บทความ: “แผนฯ 11 กับมิติการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น”

บาว นาคร กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552ในปัจจุบันประเทศไทยได้

เผชิญกับปัญหาต่างๆมากมาย ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม

อาทิเช่น กรณีความขัดแย้งทางการเมือง วิกฤติเศรษฐกิจ ภาวะการตกงาน ปัญหาความรุนแรงใน

สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มาบตาพุด เป็นต้น ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่

เป็นผลพวงมาจากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนและไม่สมดุล

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้นได้มีมาทั้งหมด 10 ฉบับแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2504 จนถึงปัจจุบันเกือบ 50 ปีแล้วที่ประเทศไทยนั้นได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นตัวแบบในการพัฒนาประเทศ ในอดีตที่ผ่านมา มิติของกระบวนการพัฒนาส่วนใหญ่ได้เน้นเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก และเป็นการกำหนดแผนพัฒนาฯ จากส่วนกลางและนำไปสู่การปฏิบัติ ทำให้ขาดมิติของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดแผนพัฒนาฯ ส่วนมิติของการมีส่วนร่วมของประชาชนได้เพิ่งเกิดปรากฏขึ้นในแผนฯ ฉบับที่ 8 แต่กระบวนการจัดทำแผนพัฒนายังเป็นรูปแบบ top-down จากข้างบนเป็นผู้กำหนดเป็นส่วนใหญ่ จนถึงปัจจุบันซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้มีการนำเสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 และได้จัดทำวิสัยทัศน์ประเทศไทยสู่ปี 2570 ซึ่งสาระสำคัญในแต่ละประเด็นดังต่อไปนี้ คือ

1. ความท้าทายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ : โอกาสของประเทศไทย ซึ่งได้วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางด้านต่างๆ อาทิเช่น ด้านการเงิน ด้านพลังและอาหาร ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ด้านแนวคิดการบริหารจัดการเศรษฐกิจและธุรกิจ ด้านการค้าและความร่วมมือระหว่างประเทศและการเมืองโลก และโอกาสของประเทศไทย

2. เศรษฐกิจสร้างสรรค์ : ทางเลือกเศรษฐกิจไทย ได้วิเคราะห์และเสนอว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ แนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานของการใช้องค์ความรู้ (Knowledge) การศึกษา (Education) การสร้างสรรค์งาน (Creativity) และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual property) ที่เชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม และเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่

3. ภาวะโลกร้อน : รู้วิกฤติ สร้างโอกาสการพัฒนา ได้วิเคราะห์แนวโน้มที่ประเทศไทยต้องเผชิญในอนาคตทั้งทางด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านต่างๆ อาทิเช่น ทิศทางการพัฒนาประเทศเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ เศรษฐกิจจากฐานทรัพยากรชีวภาพ ความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงาน เป็นต้น

4. สถาปัตยกรรมทางสังคม : ทางเลือกใหม่ของคนไทย ได้วิเคราะห์เกี่ยวกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งจากฐานรากของประเทศไทย และสถาปัตยกรรมทางสังคมในระยะต่อไป อาทิเช่น 1. การปรับโครงสร้างทางสังคมให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพ โดยนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ต่อยอดกับทุนทางสังคม วางรากฐานการพัฒนาสังคมที่ฐานราก การออกแบบสังคมที่มีคุณภาพจากสังคมใน 4 มิติ คือ สังคมแห่งความเอื้ออาทรและความสมานฉันท์ (Social Cohesion) ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม (Socio-Economic Security) การรวมกลุ่มเพื่อสร้างโอกาสให้กับทุกคนอย่างเป็นธรรม (Social Inclusion) การเสริมสร้างพลังทางสังคม (Socail Empowerment) 2. พัฒนาคุณภาพของทุนมนุษย์ โดยเน้นกระบวนการพัฒนาที่คนเป็นศูนย์กลางทุกภาคส่วนสนับสนุน โดยภาคประชาชน ชุมชน เป็นผู้มีบทบาทเจ้าของเรื่อง เป็นกงล้อหลัก มีบทบาทสำคัญตลอดกระบวนการ ภาครัฐ ลดบทบาทความเป็นเจ้าของเพื่อเป็นผู้หนุนการสร้างศักยภาพของชุมชนและเอกชน

5. สัญญาประชาคมใหม่ : พลังขับเคลื่อนสังคมสู่สมดุล ได้วิเคราะห์และเสนอไว้ว่า สัญญาประชาคม หมายถึง ค่านิยมที่ประชาชนตกลงร่วมกันด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและใช้เป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกันในสังคมอย่างมีพลวัต ตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคม โดยเน้นการดำรงชีวิตตามวัฒนธรรมอันดีของไทยตามภูมิภาคต่างๆ ยึดหลักคุณธรรม และความเป็นธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตรักษาสิทธิของตนเองโดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ปฏิบัติหน้าที่พลเมืองให้ครบถ้วนและมีจิตสาธารณะ ยึดหลักแก้ไขความขัดแย้งในสังคมด้วยสันติวิธี เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ปลอดภัยและมีความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน และได้มีทิศทางการพัฒนาสัญญาประชาคมใหม่ ไว้ 5 ประเด็น คือ 1. ปรับกระบวนทัศน์ (paradigm) การพัฒนาประเทศใหม่โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหา 2. สร้างค่านิยมร่วม (Shared Value) 3. พัฒนากระบวนการสัญญาประชาคม บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ โดยดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนตั้งแต่ การสร้างความคิดร่วม (Social Consensus) การหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับและยึดถือ (Social Commitment) และนำไปสู่ การปฏิบัติ (Action) โดยถ้วนหน้ากัน เพื่อสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยพัฒนากลไกในระดับภาพรวม และพัฒนากลไกในระดับชุมชน 4. สร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้าง กลไก และกระบวนการบริหารจัดการของทุกภาคส่วนของสังคม 5. ขับเคลื่อนและวางระบบการติดตามประเมินผลในทุกระดับ

จากเนื้อหาสาระโดยสรุปของแผนฯ ฉบับที่ 11 และวิสัยทัศน์ประเทศไทยสู่ปี 2570 นั้น ทำให้เห็นมิติของกระบวนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของประชาชนในหลายประเด็น ที่สำคัญ คือ ในส่วนของสถาปัตยกรรมทางสังคม ได้มีเนื้อหาที่สื่อถึงมิติในงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเน้นให้ความสำคัญกับชุมชนเป็นหลัก และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการพัฒนา ในส่วนของสัญญาประชาคมใหม่ ได้กล่าวถึง กระบวนการสัญญาประชาคม บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ โดยดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนตั้งแต่การสร้างความคิดร่วม (Social Consensus) การหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับและยึดถือ (Social Commitment) และนำไปสู่การปฏิบัติ (Action) ซึ่งเป็นภาพรวมและแนวทางกว้างๆ ในการนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป

ในแผนฯ 11 นั้น ผู้เขียนมีมุมมองว่าเนื้อหาสาระของแผนฯ 11 ส่วนใหญ่นั้นได้กล่าวถึงเศรษฐกิจรวมทั้งแนวโน้มทางด้านเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ยังมีเนื้อหาสาระบางส่วนที่ขาดหายไป อาทิเช่น มิติของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่สามารถเอื้ออำนวยต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน กระบวนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นนั้นน่าจะมีบรรจุไว้ในแผนฯ 11 ด้วย

ประการสำคัญ คือ ทำอย่างไรจะให้แผนฯ 11 ที่ได้กำหนดไว้มีการพิจารณาอย่างครบถ้วนทุกมิติและรอบด้าน รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขโดยให้ประชาชนและทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทและทิศทางการพัฒนาของประเทศไทย และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

คัดจาก http://nidambe11.net/ekonomiz/2009q4/2009november19p2.htm 20/11/2009